San Juan - สร้างความเจริญในเมืองหลวงของอาณานิคม
ก่อนอื่นเลย ชื่อเกมนี้มันเฉพาะทางมากจนนึกชื่อไทยไม่ออก ว่าแล้วก็ไปขุดชื่อที่คุณอาร์มตั้งให้กับ Puerto Rico แล้วก็ต่อเติมซะเลย
Daylight Saving เป็นวิธีการปรับเวลาเพื่อให้เหมาะสมกับฤดูกาล ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ และประเทศในยุโรปบางส่วน เนื่องจากประเทศในแถบซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ จะมีความแตกต่างทางเวลาของฤดูร้อนและฤดูหนาวอยู่มาก เพื่อให้คนไม่รู้สึกแย่ที่ตื่น 8 โมงไปทำงานแต่ฟ้ายังมืดตื๋ออยู่ จึงปรับเวลาให้ตรงกับเวลาตะวันขึ้นพอดี ซึ่งวันเสาร์แรกของเดือนมีนาจะมีการลดเวลา 1 ชั่วโมง (เมื่อถึงตี 1 จะปรับขึ้นเป็นตี 2) และวันเสาร์แรกของเดือนพฤศจิกายนจะมีการเพิ่มเวลา 1 ชั่วโมง (เมื่อถึงตี 2 จะปรับกลับเป็นตี 1) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งก็คือวันนี้ ฉะนั้น เมื่อได้ฤกษ์ดีมี 25 ชั่วโมงในวันนี้ ผมเลยครึ้มอกครึ้มใจเอาเวลาที่ได้เพิ่มเอามาเขียน Review เกมสั้นๆ 1 เกมครับ (แน่นอนว่า ข้อมูลส่วนนี้ ไม่เกี่ยวกับตัวเกม ....)
San Juan (อ่านว่า ซาน-ฮวน) มีชื่อเต็มคือ Municipio de la Ciudad Capital San Juan Bautista มาจาก Saint John หรือ John the Baptist ผู้เทศนาชาวยิวในคริสศตวรรธที่ 1 เป็นการตั้งชื่อเมืองหลวงตามธรรมเนียมของชาวคริสต์ที่ล่าอาณานิคมใหม่ เป็นเมืองหลวงของ Puerto Rico ที่มีชื่อเสียงที่สุด
เหตุผลที่ได้ชื่อนี้ เพราะเกมนี้เป็นการนำเกม Puerto Rico มาปรับเปลี่ยนและทำในรูปแบบการ์ด ซึ่งมี theme คล้ายๆกันคือ สร้างตึก ผลิตสินค้าแล้วนำไปขาย โดยระบบการเล่นจะเป็นการเลือกอาชีพที่ทุกคนได้ action เดียวกันแต่คนเลือกจะได้สิทธิพิเศษ โดยมีเป้าหมายหลักคือสร้างตึกระดับ 6 เพื่อเก็บแต้ม ถ้าใครรู้จัก Race for the Galaxy จะทราบว่าระบบการเล่นคล้ายกัน เพราะว่าทั้งสองเกมนี้ได้รับแรงบันไดจานจาก Puerto Rico เหมือนกัน แต่เรื่องรายละเอียดต้องยกให้ RftG เลย เพราะตอนนี้มีภาคเสริม 4 ภาคกับการ์ดอย่างน้อย 300 แบบ เข้าไปแล้ว (ในขณะที่ San Juan มีการ์ดเพียง 110 ใบ แต่ถ้าไม่นับใบซ้ำก็เหลือไม่เกิน 80 แบบ)
เกมนี้เล่นได้ 2-4 คน (ซึ่งมีคนทำ variant สำหรับ 5-8 คนด้วย โดยใช้ San Juan สองชุดกับอาชีพพิเศษ ...) ใช้เวลาเพียง 30-45 นาที (ข้างกล่องเขียนไว้ 45-60 นาที แต่ยังไม่เคยเล่นนานขนาดนั้นซักที) อยู่ในชุด "Alea Small Box"
อุปกรณ์ – การ์ด 110 ใบ ป้ายอาชีพ 5 แผ่น ป้าย Governor 1 แผ่น และแผ่นบอกราคาสินค้า 5 แผ่น (แค่นี้เองเร้ออออ .... )
ก่อนเริ่มเล่น – ผู้เล่นทุกคนจะต้องมี Indigo Plant (สีฟ้า) คนละใบอยู่ข้างหน้า (หรือจะต่อให้คนอื่นเป็น Silver Melter ก็แล้วแต่ความปรานีครับ ) จากนั้นให้เลือกผู้เล่นคนแรกแล้วแจกป้าย Governor ให้ผู้เล่นคนนั้น จากนั้น แจกไพ่ 5-6-7-8 ใบให้แก่ผู้เล่นคนที่ 1-2-3-4 ตามลำดับเริ่มจาก Governor จากนั้นทุกคนทิ้งไพ่จนเหลือ 4 ใบ (ทำให้คนที่เลือกอาชีพทีหลังรู้สึกได้เปรียบขึ้นประมาณ 3.145%)
รอบการเล่น – ใช้ระบบเดียวกันกับ Puerto Rico คือ ผู้เล่นคนแรกเลือกอาชีพ 1 อาชีพ จากนั้นทุกคนจะได้ทำอาชีพนั้นเหมือนกันหมดเรียงตามทิศทางการเล่น (สามารถเลือกไม่ทำอะไรเลยได้) โดยคนที่เลือกอาชีพจะได้สิทธิพิเศษ 1 อย่าง เมื่อทุกคนได้ทำอาชีพนั้นจนครบ ผู้เล่นคนถัดไปจะเลือกอาชีพอีก 1 อาชีพที่ผู้เล่นคนก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เลือก(แนะนำให้เรียงอาชีพเป็นแนวเดียวกันตามรูป และให้หมุนอาชีพที่เลือกแล้วไป 90 องศา) และผู้เล่นคนอื่นทุกคนก็จะได้ทำอาชีพนั้นเช่นกัน จนทุกคนได้เลือกอาชีพครบทุกคน จากนั้นก็จะขึ้นรอบใหม่โดยเปลี่ยน Governor เป็นคนถัดไป และผู้เล่นจะต้องทิ้งการ์ดจนมีการ์ดบนมือไม่เกิน 7 ใบ (หรือ 12 ใบ ถ้ามี Tower)
หมายเหตุ: ถ้าเล่นแบบ 2 คน Governor ของแต่ละรอบจะได้เลือกอาชีพ 2 ครั้ง โดยผลัดกับเลือกกับผู้เล่นอีกคน ฉะนั้นในแต่ละรอบจะมีอาชีพที่ถูกเลือกทั้งหมด 3 อาชีพ และถ้าผู้เล่นเป็น Governor "Library" จะเลือกใช้ความสามารถได้เพียงอาชีพเดียวเท่านั้น
หมายเหตุ: ถ้าการ์ดหมดกองในกรณีใดก็ตาม ให้นำการ์ดจากกองทิ้งมาสับและทำเป็นกองจั่วใหม่ และพยายามแยกกองจั่วออกจากกองทิ้งให้ดี เพราะมิฉะนั้นเล่นๆไปจะรู้สึกว่า "การ์ดนี้ฉานเพิ่งทิ้งไปไม่ใช่เร้อ"
อาชีพ
Builder – ผู้เล่นทุกคนสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างได้ 1 แห่ง เวลาสร้างให้ทิ้งการ์ดบนมือตามราคาสิ่งก่อสร้าง (ตามตัวเลขมุมบนซ้ายและขวา) สิ่งก่อสร้างที่สร้างจะมีผลหลังจากสร้างเสร็จแล้ว (เช่น ถ้าสร้าง Carpenter ที่บอกว่า “เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างสีม่วงจะได้จั่ว 1 ใบ” ก็จะยังไม่ได้จั่วไพ่ตานี้) โดยมีเงื่อนไขของการสร้างคือ ไม่สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างสีม่วงที่มีชื่อเดียวกันซ้ำได้ แต่สามารถสร้างโรงงานผลิตสินค้ากี่ชนิด ชนิดละกี่แห่งก็ได้
[สิทธิพิเศษ] ผู้ที่เลือกอาชีพนี้จ่ายค่าสร้างน้อยลง 1
Councillor – ผู้เล่นทุกคนหยิบการ์ดจากกอง 2 ใบ เลือกขึ้นมือ 1 ใบและทิ้งไพ่ที่เหลือทั้งหมด
[สิทธิพิเศษ] ผู้ที่เลือกอาชีพนี้หยิบการ์ดจากกองเพิ่มอีก 3 ใบ (แต่ยังเก็บขึ้นมือได้เพียง 1 ใบ)
Producer – ผู้เล่นทุกคนสามารถผลิตสินค้าได้ 1 ชิ้น โดยต้องผลิตที่โรงงานสินค้าที่ยังไม่มีสินค้าอยู่ (ไม่สามารถผลิตได้เกินแห่งละ 1 ชิ้น) ฉะนั้น ใครโรงงานเต็มก็นั่งรอสินค้าเก่าบูดไปก่อนแล้วกัน ) วิธีการคือนำการ์ดจากกองจั่วตามจำนวนสินค้า มาวางคว่ำหน้าไว้บนโรงงานผลิตสินค้า
[สิทธิพิเศษ] ผู้ที่เลือกอาชีพนี้สามารถผลิตสินค้าได้ 2 ชิ้น
Trader – ผู้เล่นทุกคนสามารถขายสินค้าได้ 1 ชิ้น โดยราคาสินค้าจะระบุไว้ในแผ่นราคา ตอนขายสินค้าครั้งแรกจะมีราคาสินค้าเป็น 1-1-1-2-2 สำหรับ indigo, sugar, tobacco, coffee และ silver ตามลำดับ (สามารถสังเกตได้จากสีเช่นกัน) หลังจากการขายเสร็จสิ้นในรอบนั้น ราคาสินค้าก็จะเปลี่ยนไปยังชุดต่อไปเป็นเรื่อยๆเป็นวงกลม ตามลำดับดังรูป (ฉะนั้น หลังจากการขายครั้งที่ 5 แล้วราคาจะตกฮวบฮาบ)
[สิทธิพิเศษ] ผู้ที่เลือกอาชีพนี้สามารถขายสินค้าได้ 2 ชิ้น
Prospector – ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
[สิทธิพิเศษ] ผู้ที่เลือกอาชีพนี้ได้จั่วการ์ด 1 ใบ
เกมจบ
เกมจะจบเมื่อมีคนเลือกอาชีพ Builder และหลังจากทุกคนทำอาชีพนั้นเสร็จแล้ว มีผู้เล่นที่สร้างตึกที่ 12 สำเร็จ และนับคะแนนตาม Victory points ของแต่ละตึก (ตัวเลขด้านล่างของการ์ด ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนจะไปดูเลขด้านบน เพราะมันตัวใหญ่กว่า ....) และ Victory points ที่ได้จาก Chapel (ความสามารถ:เมื่อจบรอบ สามารถนำการ์ด 1 ใบบนมือมาไว้ใต้ Chapel ซึ่งมีค่าใบละ 1 คะแนนตอนจบเกม)
จบไปแล้วครับเกมนี้ สั้นมาก ระบบเข้าใจง่ายแต่ก็มีวิธีการเล่นอยู่หลายแบบ ซึ่งต้องปรับสถานการณ์ตามการ์ดบนมือ และการ์ดที่ฝ่ายตรงข้ามมี สิ่งสำคัญคือต้องสร้างสิ่งก่อสร้างระดับ 6 ให้ได้ เพราะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ให้แต้มสูงสุด และควรจะมีสิ่งก่อสร้างที่ให้ประโยชน์เราถึงแม้ผู้เล่นอื่นจะเป็นคนเลือกอาชีพและเราไม่ได้รับสิทธิพิเศษนั้น (เช่น aqueduct ที่ทำให้เราผลิตสินค้าได้เพิ่ม 1 ชิ้น หรือ prefecture ที่ทำให้เราเก็บไพ่ได้ 2 ใบ เมื่อทำอาชีพ councilor) ความซับซ้อนของเกมนี้จะแตกต่างจาก Race for the Galaxy อย่างมาก ทำให้เหมาะสำหรับสอนผู้เล่นหน้าใหม่มากกว่า
เกมนี้มี expansions ใน Alea Treasure Box ด้วย เป็นการเพิ่มประเภทสิ่งก่อสร้างและเพิ่ม Event Card ที่รวมกับการ์ดในกองและเมื่อมีคนจั่วเจอจะนำมาไว้ตรงกลางและสามารถเลือกแทน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น